วันจันทร์ที่ 16 พฤษภาคม พ.ศ. 2554

ค้นหารากเหง้า ว่าด้วยเรื่องศาลพระภูมิ และศาลเจ้าที่


ในช่วงภาคฤดูร้อนที่ผ่านมาได้มีโอกาสเป็นวิทยากรจัดกระบวนการเรียนรู้ วิชาการวางเป้าหมายและแผนชีวิต ในโครงการอบรมสัมฤทธิบัตร ของมหาวิทยาลัยชีวิตศูนย์การเรียนรู้เพื่อปวงชน ไม่น่าเชื่อว่าวิชานี้จะช่วยสอนให้ คนเราสามารถนำกระบวนการในเชิงการบริหารจัดการระดับองค์กรใหญ่ ย่อส่วนมาใช้ในชีวิตประจำวันได้อย่างน่าทึ่ง นักศึกษาหลายคนที่ในช่วงแรกๆ ของการเรียนไม่ได้สนใจ เข้าอบรมไปวัน ๆ เท่านั้น สั่งให้ทำรายงานก็ให้ทำ พอภายหลังจากการจัดทำรายงานวิเคราะห์เล่มฉบับสมบูรณ์ หลายคนบอกว่าจะนำกลับไปใช้ในชีวิตประจำวัน เพื่อปรับปรุงชีวิตให้ดีขึ้น หลายคนบอกว่า ไม่เคยรู้วิธีการไปสู่เป้าหมายตนเองได้อย่างไร หลายคน บอกเพียงแค่อยากเรียนจบมหาวิทยาลััยเท่านั้น แต่ภายหลังจากได้เรียนรู้กระบวนวิชานี้แล้ว ทำอะไรเป็นเยอะขึ้น รู้จักจัดการชีวิตตนเองให้มีความสุขได้มากขึ้นโดยไม่รู้ตัว ก็ดีใจกับนักศึกษาด้วยที่ได้นำความรู้ไปใช้ แต่สิ่งที่ผมจะเล่าต่อไปนี้ไม่เกี่ยวกับการเรียนการสอนหรือการจัดกระบวนการเรียนรู้หรอก แต่ก็มีที่มาที่ไปจากการได้เรียนรู้จากการเรียนการสอนในวิชานี้ นั่นคือ "ศาลพระภูมิ" และ "ศาลเจ้าที่"
ความรู้เกี่ยวการสร้างศาลพระภูมิ หรือ ศาลเจ้าที่ ลองอ่่านในเว็บบล็อกลุงแว่นนะครับ (http://www.bloggang.com/mainblog.php?id=skit&month=04-08-2008&group=2&gblog=19) ได้ความรู้พอสมควรในเรื่องการสร้างศาลพระภูมิ หรือ ศาลเจ้าที่ แต่ที่ผมเขียนนี้ มิได้ว่าผู้ใดผิดผู้ใดถูก แต่เขียนในเชิงของการพิจารณาจากรากเหง้าความคิดของคนสมัยก่อนที่มีเรื่องศาลพระภูมิ เจ้าที่ ทั้ง ๆ ที่ประเทศเราเป็นประเทศที่นับถือศาสนาพุทธ เป็นส่วนใหญ่ เป็นศาสนาที่เป็นเป็นอเทวนิยม
เมื่อศึกษาในเรื่องการนับถือเกี่ยวกับผี จากการศึกษาเพื่อทำความเข้าใจเกี่ยวกับคำว่่า "ผี" ในเชิงมนุษยวิทยาถือว่าผีเป็นความหมายในเชิงของกฎ ระเบียบ จารีตประเพณี วิถีปฏิบัติของชุมชน สังคม ซึ่งมิได้มีความหมายในเชิงของวิญญาณเลย ดังที่เราจะเห็นได้จากคำว่า "ผิดผี" ซึ่งหมายถึงการปฏิบัติที่ละเมิด กฎ ระเบียบ จารีตประเพณี ซึ่งเมื่อเรามองย้อนกลับไปยังวิธีคิดดั้งเดิมของคนไทย ที่ยังมิได้มีส่วนสัมพันธ์กับการนับถื่อในศาสนาพราหมณ์ เราจะพบว่าเป็น วิถีคิดแบบดั้งเดิมของคนไทยให้ความสำคัญต่อการปฏิบัติตามระเบียบในสังคม
สำหรับในเรื่อง "ที่" ก็เช่นเดียวกัน ก็คงเกี่ยวข้องกับ "เจ้าที่" ดิน น้ำ ลม แดด และธรรมชาติ ล้วนเกี่่ยวข้องอยู่ด้วยกันอย่างสมดุล จึงจะถือได้ลงตัวอยู่ด้วยกันได้ แต่หากไม่เกิดความสมดุลย่อมอยู่ด้วยกันไม่ได้ ดังเช่นที่เราได้เห็นได้ทราบจากข่าวในปัจจุบันนี้เช่นกัน มนุษย์ได้ทำลายความสมดุลของสรรพสิ่ง จึงทำให้เกิดเหตุ ภัยต่าง ๆ ซึ่งเป็นการปรับสมดุลของสรรพสิ่งที่อยู่ร่วมกัน ดังนั้นจากฐานความคิดของคนในสมัยโบราณ กรณีการสร้างบ้านเรือน สร้างสถานที่ใด ๆ จึงมักมีการปรึกษาหารือ กับปราชญ์ ผู้นำทางจิตวิญญาณ ผู้มีญาณเล็งเห็นความสัมพันธ์ของสรรพสิ่งรอบตัว ให้ช่่วยตรวจดูความเหมาะสม ซึ่งหากคิดในเชิงเหตุผลในปัจจุบันคือ เป็นสถานที่มีความเสี่ยงน้อยที่สุด ต่อการอาจเกิดเหตุการณ์ต่าง ๆ ดังเราจะเห็นในเรื่องของข้อห้ามต่าง ๆ ของศาสตร์ ทั้งไทย จีน (ฮวงจุ้ย) ดังนั้นการเลือกที่ที่มีชัยภูมิ หรือที่ที่มีความเหมาะสมในการก่อสร้างบ้านเรื่อนที่อยู่อาศัย จึงเป็นศาสตร์อย่างหนึ่งที่สืบทอดกันมาแต่โบราณ การเลือกสถานที่ที่ไม่ผิดที่ผิดทาง ย่อมทำให้คนที่อยู่อาศัยมีความสุขได้
ดังนั้นในแต่ละที่ แต่ละชัยภูมิ จึงมักมีเจ้าที่ หรือพระภูมิคอยปกปักรักษา ในลักษณะความเชื่อว่าจะทำให้คนที่อยู่อาศัยในสถานที่เหล่านั้นมีความสุข คนโบราณจึงมักอยู่ในสถานที่แต่ละแห่งด้วยความอ่อนน้อมถ่อมตน เคารพในสถานที่
จากฐานความคิดของคนโบราณจึงทำให้เห็นได้ว่า ความเชื่่อเหล่านี้มีที่มาที่ไป มิได้งมงายอย่างที่คิด
ดังนั้นหากเรามีความเข้าใจ เคารพในสถานที่ที่ตนเองอาศััยอยู่ ทำงานอยู่ มีการสร้างศาลพระภูมิ ศาลเจ้าที่ เป็นที่ยึดเหนี่ยวย่อมทำให้ผู้อยู่อาศััยมีความสุขในการได้อยู่อาศัย
อ้างอิง : รูปภาพจาก http://xn--42c5cgeicjx9eqhbw2e.blogspot.com/2011_04_01_archive.html
เอกสารประกอบการเรียนวิชาการวางเป้าหมายและแผนชีวิต โครงการอบรมสัมฤทธิบัตร มหาวิทยาลัยชีวิต สถาบันการเรียนรู้เพื่อปวงชน มกราคม 2554

ไม่มีความคิดเห็น: